พระแก้วมรกต

พระแก้วมรกต พระพุทธรูป 3 ฤดูศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองไทย

หากให้เอ่ยชื่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนนับถือเคารพศรัทธามากที่สุดในประเทศไทย มีชื่อหนึ่งที่ถูกกล่าวขาน และต้องได้ยินอยู่เสมอนั่นก็คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต วันนี้ นะโม จะมาเล่าตำนานของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์นี้ให้ได้รับทราบกัน ว่าเหตุใด พระแก้วมรกต ถึงได้เป็นพระอริยบุคคล ที่ประดิษฐานอยู่ที่ใด ล้วนแล้วจะมีแต่ความรุ่งเรือง ร่มเย็น รวมถึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้คนที่มีเรื่องหนักอก ทุกข์ใจ เข้าไปสักการะบูชา เพื่อเสริมดวงชะตาให้ดีรุ่งเรือง มั่งมี เงินทองได้

ประวัติ พระแก้วมรกต

พระแก้วมรกต มีชื่อเป็นทางการว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตั้งประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ใน พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร โดยพระแก้วมรกตสร้างขึ้นจากการสลักหินหยกอ่อนเนไฟร์ต (Nephrite) สีเขียวสดเสมอกันทั้งองค์ นับเป็นงานพุทธศิลป์อันล้ำค่าที่ยากจะหาใดเทียบ

พระแก้วมรกต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดยพระแก้วมรกตนี้ พบครั้งแรกใน เจดีย์วัดป่าญะ ตำบลเวียง เมืองเชียงราย ในปี พ.ศ. 1977 (หรือ ค.ศ. 1434) โดยได้เกิดฟ้าผ่าลงบนองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง เลยได้นำไปไว้ในวิหาร แต่ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิกเกิดกระเทาะออกเห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ ปรากฏเป็นพระพุทธรูปหินสีเขียวเหมือนมรกต งดงามล้ำค่าซ่อนอยู่ด้านใน

จากนั้น พระเจ้าสามฝั่งแกน แห่งเชียงใหม่ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรง พระแก้วมรกต กลับไม่ยอมเดินไปเชียงใหม่ตามจุดหมาย แต่กลับวกเปลี่ยนเส้นทางไปที่ลำปางแทน จึงนำไปไว้ที่ วัดพระแก้วดอนเต้า ถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช จึงได้เชิญกลับมายังเชียงใหม่ สร้างปราสาทประดิษฐานไว้ แต่ก็ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง

พระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้ว จ.เชียงราย

ต่อมาเมื่อ พระเจ้าไชยเชษฐา แห่งล้านช้าง ซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนามาครองเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญ พระแก้วมรกต กลับหลวงพระบางไปพร้อมกับ พระพุทธสิหิงค์ พอทางเชียงใหม่ขอคืนก็ได้คืนแต่เพียง พระพุทธสิหิงค์ จนเมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญ พระแก้วมรกต ลงมาด้วย

ก่อนที่ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง พระองค์ได้ทรงอัญเชิญ พระแก้วมรกต และ พระบาง มาจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ (ลาว) โดยในครั้งนั้นประดิษฐานไว้ที่ วัดอรุณราชวราราม

เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรง พุทธศักราช 2327 จนถึงปัจจุบัน

ที่มาของ พระแก้วมรกต พระพุทธรูป 3 ฤดู

นอกจากเรื่องราวประวัติของพระแก้วมรกตที่ทราบกันแล้ว พระแก้วมรกตยังมีความพิเศษนอกเหนือจากความสวยงามของศิลปะอยู่อีกอย่าง นั่นก็คือ เป็นพระพุทธรูปที่มีเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดู ได้แก่พระแก้วมรกตเครื่องทรงฤดูฝน, พระแก้วมรกตเครื่องทรงฤดูหนาว, และพระแก้วมรกตเครื่องทรงฤดูร้อน

โดยที่มาของการมีเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดูนี้ เป็นพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ทรงถวายเป็นพุทธบูชา จึงทรงโปรดฯ ให้จัดสร้างเครื่องทรงขึ้น เริ่มแรกมีเพียงเครื่องทรงฤดูร้อน และฤดูฝนเท่านั้น

พระแก้วมรกต 3 ฤดู
พระแก้วมรกตทรงเครื่อง 3 ฤดู (จำลอง)

ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดสร้างเครื่องทรงฤดูหนาว ถวายเป็นพุทธบูชาเพิ่มอีกหนึ่งชุด พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจึงมีเครื่องทรงครบ 3 ฤดู ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงทั้งสามฤดูทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน

โดยพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในแต่ละปีมีกำหนดเวลา คือ
วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4  : เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวเป็น เครื่องทรงฤดูร้อน
วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8  : เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อนเป็น เครื่องทรงฤดูฝน
วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 : เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูฝนเป็น เครื่องทรงฤดูหนาว

สำหรับเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดู จะมีลักษณะดังนี้

  • เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชรและมณีต่างๆ มงกุฎที่ทรงเป็นเทริด ยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่
  • เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน ทรงอย่างห่มดอง ใช้ทองคำทำเป็นกาบจำหลักลายทรงข้าวบิณฑ์ ประดับมณีต่างๆ เมื่อประกอบเข้ากับองค์พระแล้วก็เหมือนผ้าทรงอย่างห่มดอง พระศกศิราภรณ์ ทำด้วยทองคำลงยาสีนํ้าเงินแก่ ปลายพระเกศาที่เวียนเป็นทักษิณาวรรตประดับด้วยมณีเม็ดย่อมๆ ทั่วไป พระรัศมีลงยา
  • เครื่องทรงสำหรับฤดูหนาว เป็นผ้าทรงคลุมแต่ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยลวดเหมือนตาข่าย ใช้คลุมทั้งสองพระพาหา พระศกคล้ายของฤดูฝน

วิธีสักการะสักการะ พระแก้วมรกต ให้ประสบผลสำเร็จ

เมื่อทราบที่มาและประวัติของพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างพระแก้วมรกตกันแล้ว คราวนี้ลองมาดูขั้นตอนบูชาพระแก้วมรกต กันบ้าง เผื่อว่าหากใครมีโอกาสได้เดินทางมาสักการะ พระแก้วมรกต แล้ว จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการตั้งมั่นอธิฐานจิตในสิ่งที่ต้องการได้ โดย นะโม ขอแนะนำให้เตรียมสิ่งของตามด้านล่างนี้เลย เพื่อนำไปบูชาเสริมดวงชะตา ได้แก่

เครื่องบูชาพระแก้วมรกต
ดอกไม้บุชาพระแก้วมรกต ภาพจาก เรือนกรพรหม

  • ดอกบัว 3 ดอก ธูป 5 ดอก เทียนสีผึ้งแท้หนัก 1 บาท 1คู่
  • พวงมาลัยดาวเรืองล้วน 1 พวง และพานเล็กใส่มะลิ 1 กำมือ
  • อาหารหวานคาว
  • เงินเกินอายุเรา เช่นอายุ 25 ให้ใส่ 26 บาท


หลังจากนั้น นำสิ่งของทั้งหมดไปวางไว้ ณ จุดที่ไหว้พระแก้วมรกตด้านนอก โดยให้ไหว้ในด้านที่มีรูปเจ้าแม่กวนอิม โดยวางอาหารคาวหวานตามที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ แล้วจุดเทียนสีผึ้ง ตามด้วยธูป 5 ดอก พร้อมกล่าวคาถาบูชาพระแก้วมรกต

คาถา บูชาพระแก้วมรกต

คาถาบูชาพระแก้วมรกต

ตั้ง นะโม 3 จบ
พุทธะ มะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
ทุติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
ตะติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ มะหาเตโช เจวะ มะหาปัญโญ
จะ มะหาโภโค จะ มะหายะโส จะ ภะวันตุ เม
นิพพานัสสะ ปัจจะโย โหตุ (หรือเป็น วาละลุกัง สังวาตังวา)

‘คาถาบูชาพระแก้วมรกต’

ตั้งจิตอธิษฐาน ปรารถนาสิ่งใดจะได้ตามใจสมประสงค์ ดังนี้ ข้าพเจ้าชื่อ . . . . นามสกุล . . . . (หากเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วให้เอ่ยนามสกุลเดิมด้วย) ขอถวายนมัสการ ขอบูชา ขอพร พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หลวงพ่อวัดพระแก้ว . . .

จากนั้นให้อธิฐานขอพรที่อยากได้ . . พรใดที่ข้าพเจ้าขอบารมี องค์พระแก้วมรกต พระเทพบิดร เทวาอารักษ์พระศาสนาและผีเมืองผีวัง จงดลบันดาลให้เป็นผลสำเร็จ เป็นผลสำเร็จด้วย วาละลุกัง สังวาตังวา (3 จบ)

เมื่อกล่าวเสร็จให้นำธูปไปปัก ดอกไม้ไปวางบูชาให้ยกพานเครื่องบูชาจรดเหนือหัวแล้วกล่าวคำข้างต้นอีกครั้ง และให้นำมาลัยดาวเรืองและมะลิเข้าไปไหว้ด้านในหน้าองค์พระแก้วมรกต แล้วกล่าวคาถานี้อีกครั้งเป็นอันเสร็จ ส่วนอาหารและเงินนั้นให้เป็นทานไม่ต้องนำกลับแต่ประการใด

วัดพระแก้ว
วัดพระแก้ว

ทั้งนี้ เนื่องจาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับพระบรมมหาราชวัง จึงควรแต่งกายสุภาพ งดสวมเสื้อไม่มีแขน เสื้อรัดรูป กางเกงหรือกระโปรงขาสั้น รวมถึงรองเท้าแตะ หากแต่งกายมาไม่เหมาะสม สามารถขอยืมเครื่องแต่งกายได้บริเวณประตูวิเศษไชยศรี โดยทางวัดเปิดให้เข้าสักการะ ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 15.30 น. นะ แต่หากไม่สะดวกสักการะพระแก้วมรกต ถึงวัดพระแก้วได้ ให้บูชาด้วยจิต แล้วสวดอธิษฐานบูชาด้วยคำกล่าวดังกล่าวได้ด้วยเช่นเดียวกัน

นะโม เกือบลืม !! นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมไปกราบไหว้อีกหลายที่มากๆ ไม่ว่าจะเป็น วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร วัดชนะสงคราม วัดอรุณราชวราราม วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

พระแก้วมรกต
ยักษ์วัดพระแก้ว

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ศาลหลักเมือง เรียกว่าไปวันเดียวแต่ทัวร์ทำบุญ 9 วัด ได้เลย แล้วอย่าลืมมาแชร์ให้ นะโม ฟังกันนะว่าไปไหนกันมาบ้าง ธรรมะสวัสดี ^^

สรุป

พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่อีกองค์หนึ่งของไทย ด้วยเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หากมีโอกาสได้ทำการสวดสักการะบูชาทุกวัน ผลบุญจะช่วยให้จิตใจผ่องใส เกื้อหนุนให้กิจการการค้ารุ่งเรือง และทำสิ่งใดก็สมหวังทุกประการ

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
Email
Share on pinterest
Pinterest
Share on vk
VK

Top ฮิตติดกระแส

มาใหม่วันนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ